เมื่อความหมายของความเป็นชาติ คือเกียรติ และศักดิ์ศรีของชีวิต เส้นทางของลูกผู้ชายคนหนึ่งคงไม่ต้องคิดอะไรให้มากกว่า "ไม่สู้ก็ตาย..."นิยามง่ายๆ เมื่อ 'ชาติ' ถูกรังแก การลุกขึ้นต่อสู้กับผู้รุกรานย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่หากต้องมาเสียเลือดเนื้อด้วยการหันกระบอกปืนเข้าใส่กันเองแล้ว ความละเอียดอ่อนทำนองนี้ค่อนข้างจะอยู่เหนือวิสัยของเหตุผลพอสมควร วันเวลากว่าค่อนศตวรรษของใครคนหนึ่งถูกผูกติดด้วยสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด ใครบางคนที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็น นักรบรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านสันติคีรี
เรื่อง " ในรัศมี 300 เมตร ล้วนมีแต่เสียงฝนหล่นกระทบกิ่งไม้ ฝนห่าใหญ่ในรอบหลายวันมานี้กำลังชะหน้าดินตามเนินตะปุ่มตะป่ำให้กลายเป็นกอง เลนขนาดย่อมๆ กลืนร่างในชุดสีเขียวขี้ม้านับสิบที่ซุกตัวแน่นิ่งกระจัดกระจายอยู่ตามแนว ชายป่า เกือบชั่วโมงก่อนฝนจะซาลงพอให้มองเห็นตัวป่าได้บ้าง หลายสายตาเริ่มสอดส่ายหากัน ทันทีที่เสียงแปลกประหลาดเริ่มใกล้เข้ามา ระบบเซฟในปืนของแต่ละคนถูกปลดออกพร้อมกระชับให้แน่นแนบกาย บางสายตาเล็งผ่านศูนย์นั่งแท่นในท่าเตรียมยิง ขณะนิ้วสอดเข้าโกร่งไกเพื่อรอเวลา
ชั่ว อึดใจ เสียงลูกตะกั่วแหวกอากาศ และประกายไฟจากปากกระบอกปืนยาวขนาดเล็กก็ดังระงมขึ้น หลายคนลุกขึ้นวิ่งเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตรงหน้า ขณะที่บางคนร้องตระโกนด้วยความเจ็บปวดหลังกระสุนทะลวงชั้นเนื้อเข้าไปข้างใน ตัว ระเบิดที่ดังมาจากทุกทิศทาง ทำให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่อำพรางร่างทั้ง 2 ฝ่ายเอาไว้ เสียงสูดหายใจหอบถี่หลังเนินดิน สิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกภาคสนามชั่วโมงนี้คงใช้ได้ไม่ดีเท่าประสบการณ์ และสัญชาตญาณของตัวเอง เงาเลือนรางกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในม่านควัน หลังเพ่งสายตาดูจนแน่ใจแล้วเสียงปืนอีก 1 นัดก็ดังขึ้น...
การ ปะทะกันครั้งนั้นไม่ถึงกับถูกประทับตราในฐานะสมรภูมิแห่งความทรงจำ เพียงแต่เป็นวาบความคิดที่มักปรากฏขึ้นเมื่อถูกย้อนถามถึงคืนวันก่อนเก่าของ นายพล หลุย ยี่ เถียน วัย 92 ปี อดีตนายทหารแห่งกองทัพพรรคก๊ก มิน ตั๋ง หรือกองพล 93 แห่งดอยแม่สลอง
"ไม่ฆ่าเขาเราก็ตาย" เขาเอ่ยถึงสัจธรรมในสงคราม "
นับจากวันนั้น เป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 30 ปีแล้วที่เสียงปืนของการสู้รบได้สิ้นสุดลง แต่เรื่องราวของกองทัพที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาก็ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อเรื่อยมา
แสง อาทิตย์ขับสีนวลทองให้ทะเลหมอกโอบล้อมหมู่ทิวเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อนสุก เปล่งราวกับภาพวาดจากมือจิตรกรชั้นครูมาตั้งอยู่ตรงหน้า บรรยากาศอย่างนี้ ชาอุ่นๆ ในมือ กับใครบางคนมานั่งดูชั่วโมงรุ่งอรุณบนยอดดอยด้วยกันข้างๆ ก็น่าจะเป็นอีกทริปในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน
สุด สัปดาห์บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย จึงกลายเป็นหมุดหมายอีกแห่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าให้ขึ้นมา สัมผัสบรรยากาศความโรแมนติกแบบนั้น
นอกจากความสวยงามของธรรมชาติในวันนี้ที่ผิดแผกออกไปจากบรรยากาศเมื่อ 30 ปี ก่อนอย่างสิ้นเชิง ครั้งหนึ่ง แม่สลองเคยถูกจัดอันดับให้อยู่ในโซนพื้นที่สีแดง แนวปะทะระหว่างกองกำลังคอมมิวนิสต์กับทหารฝ่ายรัฐบาลโดยอยู่ในเขตรับผิดชอบ ของกองพล 93
กองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) แต่เดิมเป็นกองทัพของรัฐบาลจีนภาคใต้ของจอมพลเจียง ไค เช็ก ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลจีนที่ส่งมารักษาชายแดนจีน-พม่า หลังจากผืนแผ่นดินจีนกลายเป็นสีแดง เมื่อปี พ.ศ. 2492 พรรค คอมมิวนิสต์ และพรรคก๊ก มิน ตั๋งได้ทำการสู้รบครั้งสุดท้ายที่แม่น้ำ หยวน เจียง ตอนกลางของมณฑลยูนาน โดยจีนคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ กองกำลังส่วนหนึ่งของก๊กมินตั๋งได้ฝ่าวงล้อมของฝ่ายตรงข้ามตามรอยตะเข็บของ จีน-พม่า และเข้ามายังบริเวณตอนเหนือของประเทศไทย ก่อนที่จะปักหลักกระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว ประมาณ 30,000 คน จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองพล 93 จึง กลายเป็นทหารไร้สังกัด หนีการกวาดล้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็มาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเชียงลับ ในเขตประเทศพม่า โดยมีอาสาสมัครและครอบครัวลี้ภัยตามออกมาสมทบมากมาย จนได้จัดเป็นกองทัพได้ 5 กองทัพ ภายใต้คำบัญชาการของนายพล หลี่ หมี
ก่อนเข้าร่วมกองทัพ ในวัย 18 ปี ของ หลุย ยี่ เถียน ก็ไม่ต่างจากลูกผู้ชายชาวจีนคนอื่นๆ ที่มีใจรักชาติเหนือสิ่งอื่นใด การการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้เขาและพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่งจากมณฑลยูนนานบ้านเกิดไปเข้าโรงเรียนนาย ร้อยเพื่อรับใช้ชาติ
กองทัพแห่งขุนเขา"เราเห็นความโหดร้ายของสงคราม เห็นประเทศชาติถูกรุกราน มันก็เป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายทุกคนอยู่แล้วที่จะต้องออกมาปกป้องประเทศ" เขาให้เหตุผล
หลัง จากเรียนจบ งานแรกของเขาคือการปฏิบัติภารกิจใน นานกิง ก่อนจะย้ายกลับมาประจำการอยู่ที่ยูนนานเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการ 'จราจล' ของ มวลชนเนื่องจากความไม่พอใจในระบบการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง และลุกลามใหญ่โตกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ทำสงครามปลดแอกประเทศจีน เขาได้เข้าร่วมกับฝ่ายจอมพลเจียงไคเช็ค โดยตรึงกำลังอยู่ทางตอนใต้ของจีน
"มัน ไม่มีเหตุผลในการเลือกข้างหรอก เราเป็นทหารของรัฐบาลกลางอยู่แล้ว หน้าที่ของเราก็ต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการปราบปรามความไม่สงบ อีกอย่างถ้าผมเข้าไปอยู่ฝ่ายโน้นก็อาจจะโดนฆ่าตายไปนานแล้วก็ได้ เพราะที่นั่นมีนโยบายไม่ยอมรับคนที่มีการศึกษา คนที่มีฐานะร่ำรวย ยิ่งระดับนายทหารยิ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ" นายพลหลุยย้อนความทรงจำสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งนายทหารคนหนึ่งในกองทัพ
มุมมองของเขาถือว่า เหมาเจ๋อตุง เป็นนักการเมืองที่เก่งกาจคนหนึ่ง แต่วิธีการ และแนวคิดที่อยู่กันคนละขั้วทำให้เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
"เขา เป็นนักการเมืองที่เก่ง มีมุมมอง มีวิธีการนำเสนอที่สามารถจูใจผู้คนส่วนใหญ่ได้ เขาอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่วิธีการของจอมพลเจียงก็คือเผด็จการ สงครามจึงเกิดขึ้น และสุดท้ายพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้รับชัยชนะ"
ปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลงจาก การแตกพ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าของกองกำลังพรรคก๊กมินตั๋งทำให้ทหารต่างกระจัด กระจายออกไป กองทัพหลักของเจียง ไค เช็ค ได้ถอยไปปักหลักต่อสู้อยู่ที่เกาะไต้หวัน ขณะที่กองกำลังส่วนหนึ่งแตกทัพลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งติดกับชายแดน พม่า-ลาว
"เรา ถอยร่นลงมาเรื่อยๆ และกระจัดกระจายอยู่ชายแดนพม่า ไทย ลาว โดยมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ที่ เมืองสาด ประเทศพม่าก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เมืองเชียงลับที่ติดฝั่งแม่น้ำโขง" นายพลหลุยขยายความ
พวกเขาใช้เมืองเชียงลับเป็นฐานที่มั่นยืนหยัดต่อมาได้อีก 8 ปี จนถึงปี 2504 รัฐบาลพม่าดำเนินการปราบปรามกองกำลังทหารจีนพลัดถิ่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้กองกำลังของนายพลหลี่ หมี พ่ายแพ้ และกองทัพที่ 1, 2 และ 4 จำนวน 4,349 คน ได้ถูกส่งตัวไปไต้หวัน คงเหลือแต่กองทัพที่ 3 ของนายพลหลี่ เหวิน ฝาน และกองทัพที่ 5 ของ นายพล ต้วน ซี เหวิน ที่ไม่ต้องการไปไต้หวันและได้นำกำลังอพยพหนีการกวาดล้างของพม่าเข้าสู่ภาค เหนือของประเทศไทย โดยไต้หวันประกาศจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกองกำลังที่ตกค้างเหล่านี้อีก
การ 'ตัดหาง' ดังกล่าวไม่ใช่การทอดทิ้งหรือปัดภาระอย่างที่เข้าใจกัน กลับเป็น 'กลยุทธ์' ที่ฝ่ายก๊กมินตั๋งใช้เพื่อป้องกันการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์
"เรา ได้รับสารลับจากจอมพลเจียง ให้ยึดฐานที่มั่นส่วนนี้เอาไว้ เพื่อรอโอกาสเข้าตีขนาบพรรคคอมมิวนิสต์ หรือหากกองทัพแดงจะเข้าตีไต้หวันเราก็จะจู่โจมทางด้านยูนนานเพื่อเป็นการ ป้องกันได้อีกทางหนึ่ง" นายพลหลุยอธิบาย
หาก มองถึงความเป็นไปได้ เขายอมรับว่าในตอนนั้นถึงฝ่ายตนเองจะพลาดท่าก่อน แต่ดูจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้วในทางการทหารถือว่ายังมีโอกาสพลิกเกมกลับมาเป็นผู้ได้รับชัยชนะในภาย หลังได้ ทหารในกองกำลังที่ 3 และ 5 จึงตรึงกำลังอยู่ไม่สลายไปไหน แต่คงไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ในเวลาต่อมา
หลังจากกองพล 93 ถูกกดดันจากรอบด้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด กองทัพที่ 3 ก็ถอยร่นมาจนถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกองทัพที่ 5 ได้ถอยมาปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ และพล.ท.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้เจรจากับไต้หวัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนในปี 2513 อเมริกา ก็ได้ตกลงเข้ามาช่วย รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้กองทหารจีนอยู่ได้ในฐานะผู้อพยพ เพื่อเป็นกองกำลังกันชนตามแนวชายแดน ป้องกันการแทรกซึมของ ผกค.และพล.อ.อ. ทวี ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้านสันติคีรี หมายถึงหมู่บ้านในขุนเขาที่สงบสุข ในขณะที่คนจีนเรียกว่าเรียกดอยนี้ว่า เหมย ซือ เล่อ เป็นความหมายเดียวกันว่า ดินแดนที่มีความสุข
หลังจากนั้น กองกำลังทหารจีน 93 ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่ากองทหารจีนคณะชาติก็ได้เป็นกำลังสำคัญร่วมต่อสู้ต่อต้านเหล่า 'ผู้ก่อการร้าย' (ผกค.) ในแถบจังหวัดเชียงรายหลายครั้ง โดยสามารถลดอิทธิพล ผกค.บนดอยหลวง ดอยยาว และดอยผาหม่นลงได้มาก รวมถึงสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย
เส้นทางสู่อนาคตระยะทางราว 42 กิโลเมตร จากตัวเมือง ผ่านถนนเลียดไหล่เขาเข้าสู่แหล่งชุมชนชาวเขาขนาดย่อมที่ซุกตัวอยู่ในอ้อมกอด ของขุนเขามานานนับทศวรรษ ในหมู่นักท่องเที่ยวรู้ดีว่า ที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทำให้ของซื้อของขายในตลาดประจำหมู่บ้านมักเกี่ยวข้องกับชาเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งขาหมูหมั่นโถวตำรับจีนยูนนานอันเป็นเอกลักษณ์ คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้หมู่บ้านสันติคีรีในวันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงนิเวศที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง กลบภาพสมรภูมิอดีตให้เหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าสู่คนรุ่นหลังได้ฟัง
ล่าสุด พื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ของหมู่บ้านสันติคีรีได้อยู่ในโครงการปลูกป่ากองบัญชาการกองทัพไทย เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดูแลโดยคนในชุมชนเอง โดยมีนายพลหลุย หรือ อรุณ เจริญทังจรรยา ประธานกรรมการหมู่บ้านเป็นคนดูแล
เขาเปิดเผยถึงสาเหตุของการเข้าเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งว่า เพราะความเป็นครอบครัวเดียวกันระหว่างคนไทยกับกองพล 93 ที่มีตลอดมา
"สงครามสิ้นสุดแล้ว และที่นี่ก็มี 2 กองทัพไม่ได้ มี 2 กฎหมาย ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นบรรทัดฐานเดียว เราจึงเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย อีกอย่างทุกคนในกองพลไม่เคยคิดจะกลับไปไต้หวันหรือจีน เพราะมันไม่มีอะไรแล้ว ภารกิจสิ้นสุดแล้ว เราก็ถือว่าเราเป็นคนไทย ก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะกลับไปจีน หรือไต้หวัน ถ้าจะกลับไปก็จะไปในฐานะแขกคนไทย"
กว่า 30 ปี ที่เขาดึงตัวเองออกจากสงครามมาใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง สิ่งที่รู้สึกอยู่ตลอดก็คือความสงบสุขของชีวิต ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเหมือนอย่างแต่ก่อนอีก
"ตอนนี้คนในหมู่บ้านก็ถือเป็นรุ่นที่ 2-3 แล้ว เขาก็ขึ้นมาเป็นระดับผู้นำหมู่บ้านแทน เราถือว่ามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ได้ออกจากภารกิจ ไม่ต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาเหมือนอย่างแต่ก่อน"
ช่วงเวลาที่ผ่านมาถือว่าคุ้มไหม?
"เหตุการณ์ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แล้วมันก็จบสิ้นไปนานแล้ว เราก็ต้องถือว่ามันเป็นความทรงจำไป"
รอยยิ้มหลังคำตอบนั้นก็ปรากฏขึ้น
-ปัจจุบัน ลูกหลานของผู้กล้าทหารจีนคณะชาติเหล่านั้นยังคงดำเนินชีวิตอยู่กันตามจุดต่างๆ ของดอยยาวและดอยผาหม่น ตามแผนหนึ่ง ในการรักษาที่มั่น-
ที่มา : oknation.net